via the Fine Arts Department: A (old) report by Pipad Krajaejun about two sites in Tak province, Ban Wang Prachob and Nai Sian, with slab graves. It’s in Thai, but Google translate does a pretty decent job these days.
วัตถุประสงค์ของบทความนี้มีความสอดคล้องกับชื่อเรื่อง คือต้องการให้ช่วยกันคบคิดกับปริศนาเกี่ยวกับ “กล่องหิน” (Slab stone box) ซึ่งคำว่ากล่องหินเป็นคำที่ผู้เขียนคิดขึ้นมาเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดของรูปทรงของกล่องหินที่มีรูปร่างคล้ายกับโลงศพอย่างมาก เพราะปัญหาหนึ่งในตอนนี้คือผลจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีนายเสียนซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยไขปริศนาที่ผู้เขียนคาใจมานานกว่า 5 ปี หลังจากการขุดค้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2550 ที่พบกล่องหินจำนวน 7 กล่องเพราะจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนจำนวน 2 หลุมขุดค้น ได้พบกล่องหินเป็นจำนวนมากถึง 12 กล่อง แต่ขุดเปิดภายในกล่องหินจำนวน 3 กล่องเท่านั้น กลับไม่พบโครงกระดูกตามที่เคยตั้งสมมติฐานไว้บ้างว่ากล่องหินอาจจะเป็นโลงศพ เพราะหลักฐานบางอย่างชวนให้คิดว่ากล่องหินคงจะเป็นที่ฝังศพครั้งแรก (primary burial) ก็ตาม ซึ่งก็น่าจะหลงเหลือเศษกระดูกมนุษย์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่พบ ดังนั้นจึงจำต้องใช้คำว่า “กล่องหิน” เช่นเดิมต่อไป จนกว่าจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่ๆ เพิ่มเติม เพราะในทัศนะของผู้เขียน การจะตีความทางโบราณคดี (Interpretative archaeology) ก็ควรอิงกับหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) มากกว่าเป็นข้อสันนิษฐานแบบคาดคิดตามประสบการณ์1แต่ถ้าผู้ใดจะตีความกล่องหินแล้วเรียกว่าโลงศพ ผู้เขียนก็ไม่ขัดเพราะบทความนี้ถือเป็นพื้นที่เปิดทางความคิดให้กับทุกท่านในการตีความหลักฐานทางโบราณคดี
บทความนี้นำเสนอหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการสำรวจและขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีในเขตตำบลวังประจบทั้งหมด เพื่อเข้าใจการกระจายตัวและรูปแบบการใช้พื้นที่ (settlement pattern) ของกลุ่มคนในวัฒนธรรมนี้ จากนั้นจะนำเสนอผลการขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่พบกล่องหินเป็นหลัก อายุสมัย และการตีความเกี่ยวกับหลักฐานที่ค้นพบทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งได้จากการทำงานภายใต้โครงการวิจัยของผู้เขียนคือ โครงการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีวัฒนธรรมวังประจบในเขตลุ่มน้ำแม่ระกา อ.เมือง จ.ตาก ซึ่งสนับสนุนทุนวิจัยโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท หลักฐานที่พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีนายเสียนครั้งใหม่นี้นับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะจากการสำรวจบนพื้นผิวดินทำให้พบกล่องหินมากกว่า 30 กล่อง และยังพบร่องรอยของแผ่นหินตั้ง (standing stone) หลายจุด และจากการขุดค้นจำนวน 2 หลุมยังพบกล่องหินกับกลุ่มของหินตั้งควบคู่กัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของระบบความเชื่อของคนในกลุ่มวัฒนธรรมนี้ การตีความหลักฐานที่ค้นพบใหม่นี้ ผู้เขียนได้ใช้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่นๆ ที่คิดว่ามีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การอธิบายแนวคิดและระบบความเชื่อของกลุ่มคนในวัฒนธรรมนี้